วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

FREQUENCY เจาะเวลาผ่าความถี่ฆ่า

FREQUENCY เจาะเวลาผ่าความถี่ฆ่า



แนว : ดราม่า / แฟนตาซี / ลึกลับ / sci-fi
ความยาว : 118 นาที
กำหนดฉาย : 21 กรกฎาคม 2543

ถ้าคุณมีโอกาสได้ย้อนกลับไปในอดีต เพื่อแก้ไขความผิดพลาดหนึ่งอย่างในชีวิต มันจะเป็นยังไง?

สำหรับ จอห์น ซัลลิแวน (จิม คาวีเซล) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม ปี 1969 เมื่อบิดาของเขา ซึ่งเป็นนักผจญเพลิงผู้กล้าหาญ ต้องเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ที่อาคารบรักซ์ตัน คงเป็นเหตุการณ์เดียวที่เขาจะเลือกมาแก้ไข ตั้งแต่เด็กมาแล้ว จอห์นเฝ้าครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา ที่จะหาทางหยุดโศกนาฏกรรมครั้งนั้น ที่ยังคงตามหลอกหลอนเขาจนถึงทุกวันนี้ให้ได้

หนึ่งวันก่อนที่จะถึงวันครอบรอบวันตายของบิดา ได้เกิดพายุประหลาดที่รู้จักกันดีในนาม ปรากฏการณ์ออโรร่า ปรากฏขึ้นกลางท้องฟ้า จอห์นพบวิทยุสมัครเล่น ที่พ่อเขาให้ไว้ก่อนตายภายในบ้าน หลังจากลองเล่นดูเขาก็พบว่า เขากำลังคุยกับชายคนหนึ่ง ซึ่งอ้างตัวเองว่าเป็นนักผจญเพลิง และกำลังรอชมการแข่งขันเบสบอลเวิลด์ซีรี่ส์ปี 1969 อยู่ นี่หมายความว่าจอห์นกำลังคุยกับพ่อของในวันเดียวกัน และในบ้านหลังเดียวกัน ในช่วงเวลาที่อยู่ห่างกันสามทศวรรษหรือ?

ในตอนแรกไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่เขาว่า แต่ไม่นานนัก จอห์นก็ใช้เวลาทั้งคืน ในการคุยกับ แฟร้งค์ ซัลลิแวน (เดนนิส เควดด์) ผู้เป็นพ่อ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในวัยหนุ่ม แบ่งปันช่วงเวลาที่มีความสุขด้วยกันไป พร้อมๆ กับความโศกเศร้า และความตายที่เกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดีจอห์นคิดว่า เขาน่าจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ โดยการเตือนพ่อของเขา ให้รับรู้ถึงโศกนาฏกรรมที่มีผลถึงชีวิต ในที่สุดจอห์นก็สามารถช่วยชีวิตบิดาได้

วันที่ 12 ตุลาคม 1999 จอห์นพบว่า ตัวเองมีรูปถ่ายบิดา ซึ่งกลายเป็นคนแก่ผมหงอกแขวนอยู่ข้างฝา อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงอดีต ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมามากมาย ซึ่งหนึ่งในเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คือ จูเลีย (อลิซาเบ็ธ มิทเชลล์) แม่ของจอห์นนั่นเอง ถึงตอนนี้ จอห์นและแฟร้งค์ต้องแข่งกับเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้การฆาตกรรมต้องลุกลามออกไป และทุกครั้งที่แฟร้งค์เปลี่ยนบางอย่างในมิติของเขา จอห์นพบว่ามันมีผลต่อมิติของเขาด้วยไม่น้อย...

ภาพยนตร์สุดระทึกเรื่อง Frequency เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก ซึ่งต้องการเวลา สำหรับจัดทุกอย่างให้เข้ารูปเข้ารอย โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานมิติของเวลา ผู้กำกับ เกรกอรี ฮอบลิท นำเสนอให้เห็น ถึงเรื่องราวที่ว่าถึงการเดินทางข้ามเวลา ผ่านความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกชาย ซึ่งหาทางข้ามมิติ เพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมที่น่าสยอง เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผสมผสานระหว่างนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่องราวลี้ลับ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ไปจนถึงความลับของมิติแห่งเวลาที่น่าฉงน

Frequency กำกับการแสดงโดย เกรกอรี ฮอบลิท ผู้เคยกำกับ Primal Fear ภาพยนตร์ที่ทำให้ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน แจ้งเกิดในวงการ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ และภาพยนตร์เรื่อง Fallen ที่นำแสดงโดย เดนเซล วอชิงตัน, จากบทภาพยนตร์ของ โทบี้ เอ็มเมอร์ริช, กำกับภาพโดย อลาร์ คิวิลโล่ (A Simple Plan), ออกแบบงานสร้างโดย พอล อี้ดส์ (The End of Innocence, Poltergeist 3), ลำดับภาพโดย เดวิด รอสเซ่นบลูม (The Insider, Deep Impact, The Peacemaker), ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย อลิซาเบ็ธ เบราลโด (Selena)

ภาพยนตร์เรื่อง Frequency นำแสดงโดย เดนนิส เควด (Any Given Sunday, The Parent Trap, Wyatt Earp, Dragonheart, Innerspace) รับบท แฟร้งค์ วัลลิแวน, จิม คาวีเซล (Ride With the Devil, The Thin Red Line) รับบท จอห์น ซัลลิแวน, อังเดร เบราเฮอร์ (City of Angles) รับบท แซ็ทช์, อลิซาเบ็ธ มิทเชลล์ (Gia และเร็วๆ นี้กับ Nurse Betty) รับบท จูเลีย ซัลลิแวน, โนอาห์ เอ็มเมอริช (The Truman Show, Life, Copland, Tumbleweeds) รับบท กอร์ดอน เฮิร์ช

ลำดับประวัติศาสตร์การเดินทางผ่านเวลา

1895 : นักเขียนชาวอังกฤษ เอช.จี. เวลลส์ เขียนนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง The Time Machine

1905 : ทฤษฎีสัมพันธภาพของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้รับการเผยแพร่ ทฤษฎีดังกล่าวว่าถึงความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ของเวลากับพื้นที่ นอกจากนี้ เขายังให้คำจำกัดความของเวลาว่า เป็น "มิติที่สี่" ที่อยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า "พื้นที่-เวลา"

1916 : อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ค้นพบว่าพื้นที่-เวลามีสัณฐานโค้ง

1937 : นักคณิตศาสตร์ เคิร์ท โกเดล เสนอความคิดที่ว่าตัวจักรวาลเอง อาจเป็นเครื่องมือเดินทางข้ามเวลา

1949 : โกเดลแสดงให้เห็นว่า เส้นทางผ่านเวลามีความเป็นไปได้ในเชิงคณิตศาสตร์

1967 : นักฟิสิกส์ชาวสหรัฐ จอห์น วีลเลอร์ จำกัดความคำว่า "หลุมดำ" เพื่ออธิบายถึงความหนาแน่นของวัตถุในพื้นที่และเวลา

1974 : นักดาราศาสตร์ แฟร้งค์ ทิพเลอร์ ได้ลองพล็อทจุดวิถีรอบๆ รูปทรงกระบอกที่กว้างใหญ่ เพื่อย้ำแนวคิดที่ว่า ทฤษฎีวิถีผ่านเวลานั้นมีทางเป็นไปได้

1985 : ภาพยนตร์แนวเดินทางผ่ามิติเวลาเรื่อง Back to the Future ออกฉาย

1988 : คิพ โธรน แห่งมหาวิทยาลัย Caltech นำเสนอทฤษฎีรูหนอน ที่มีนัยยะถึงการเดินทางผ่านเวลา

1991 : ริชาร์ด ก็อท แห่งมหาวิทยาลัยพริ้นซ์ตันพิสูจน์ว่า คลื่นคอสมิกอาจใช้เป็นทางผ่านเวลา

กฎเกณฑ์วิทยาศาสตร์


การเดินทางย้อนเวลาโดยใช้สัญญาณเป็นสิ่งที่หนังนำเสนอออกมาอย่างน่าสนใจ และทำให้เกิดจินตนาการได้อีกหลากหลาย ตามทฤษฎีก็น่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีใครทำสำเร็จสักราย

ความเป็นไปได้ในความเป็นจริง

การส่งสัญญาณไปนอกโลกแล้วให้มันย้อนกับมาในโลกอดีต ดูเหมือนจะเพ้อฝันอยู่สักหน่อย แต่ก็มีความสุขเมื่อนึกถึงว่าหากทำได้จริงคงดีพิลึก ในเมื่อการเดินทางของคลื่นมันเป็นเส้นตรง แต่ในขณะที่ต้องการให้กลับไปในอดีตได้คลื่นนั้นก็จะต้องย้อนกลับมาในลักษณะสวนกลับจากที่ส่ง เพียงแต่อยู่คนละช่วงเวลา เป็นไปไม่ได้จริงๆ หรือใครมีความคิดเห็นก็บอกมั่งนะครับ



scififilm-frequency