วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จับผิดวิทยาศาสตร์หนังดังของฮอลลีวูด

หลายเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการหายตัวไปในอากาศ เดินทางข้ามกาลเวลา หรือคนเรารู้ว่าจะบินได้อย่างไร โดยข้อมูลที่คลาดเคลื่อนแต่สมจริงเหล่านั้น อาจทำให้เราหลงคิดว่าเป็นเรื่องจริงได้ เมื่อเรื่องราวเหล่านี้โลดแล่นบนจอภาพยนตร์

เมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมนักฟิสิกส์ของสหรัฐฯ โดยในวงสนทนาได้มีการหยิบยกประเด็น "วิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์" ขึ้น โดย ศ.ซิดนีย์ เปอร์โกวิทซ์ (Prof. Sidney Perkowitz) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยอีโมรี (Emory University) สหรัฐฯ ได้นำเสนอแนวคิดถึงนักสร้างภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์ทั้งหลายไม่ควรแหกกฎวิทยาศาสตร์ (อย่างไร้เหตุผล) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรหลีกเลี่ยงความไม่สอดคล้องกันในแต่ละฉาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ต่างเห็นด้วย

“หากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีเนื้อหาผิดพลาดซ้ำไปซ้ำมา ที่สุดจะกลายเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ผมจะต้านทานได้ ผมเข้าใจถึงแรงบันดาลใจที่น่าตื่นเต้นซึ่งซ่อนอยู่ภายในภาพยนตร์ แต่แนวโน้มคือการกล่าวเกินจริง” ศ.เปอร์โกวิทซ์กล่าว

ขณะที่ ดร.เดวิด เคอร์บี (Dr.David Kirby) อาจารย์ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) กล่าวว่า ยกตัวอย่างในการเน้นย้ำถึงหายนะที่กำลังใกล้เข้ามา ผู้สร้างภาพยนตร์มักจะละเลยความจริงเกี่ยวกับเรื่องกรอบเวลา เช่น หากเราตรวจพบอุกกาบาตในเรื่อง “อาร์มาเกดดอน” (Armageddon) ล่วงหน้าหลายปี ก่อนที่จะพุ่งชนโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้คงขาดบรรยากาศตึงเครียด

“ความผิดพลาดของกรอบเวลา เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพื่อประโยชน์ในการเล่าเรื่อง” ดร.เคอร์บีกล่าว และชี้ว่าภาพยนตร์ไซไฟทั้งหลาย มักยกประเด็นร่วมสมัยขึ้นมาอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ และทำให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมภาพยนตร์สมัยนี้จึงพุ่งเป้าไปที่เรื่องพันธุวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม โรคระบาด และจุดจบของโลก

ทั้งนี้ ในความพยายามนำเสนอแนวคิดที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายความเป็นไปได้ของภาพยนตร์นั้น ทำให้ ดร.สตีเฟน เลอ กอมเบอร์ (Dr.Steven Le Comber) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากวิทยาลัยควีนแมรีคอลเลจ (Queen Mary College) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) รู้สึกเจ็บปวด ที่ถูกมองว่า นักวิทยาศาสตร์เป็นเพื่อนดูหนังที่ไม่ดี เขาเพียงแต่ต้องการออกมาชี้ถึง “วิทยาศาสตร์แย่ๆ” ในภาพยนตร์ ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องที่เขาศึกษาอยู่ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำลายประสบการณ์ในการออกไปชมภาพยนตร์ของเขา

“หากเป็นภาพยนตร์ที่ดีพอ ผมก็ยินดีให้พวกเขาทำต่อไป ทั้งนี้วิทยาศาสตร์ถูกทำลายด้วยวิทยาศาสตร์แย่ๆ ไม่ใช่ภาพยนตร์แย่ๆ” ดร.เลอ คอมเบอร์กล่าว

พร้อมกันนี้ บีบีซีนิวส์ได้ชำแหละภาพยนตร์ 3 เรื่องที่มีเรื่อง “วิทยาศาสตร์แย่ๆ” ในเนื้อหา

1.Deep Blue Sea (1999)



นำแสดงโดย – แซฟฟอน บัวร์โรว์ส (Saffron Burrows), ซามูล แอล แจ็คสัน (Samuel L Jackson)

เค้าโครงเรื่อง – ทีมนักวิทยาศาสตร์พบวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ โดยใช้โปรตีนที่อยู่ในสมองฉลาม ดังนั้นเพื่อผลิตโปรตีนที่มีประโยชน์อย่างยิ่งนี้ ทีมวิจัยได้สร้างฉลามสายพันธุ์ใหม่ที่มีความฉลาดสุดยอด ซึ่งความฉลาดที่ว่านี้ หมายความว่าฉลามเหล่านั้นมีปริมาณสมองมาก และสามารถเข้าจู่โจมนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้องปฏิบัติการใต้น้ำได้ทันที

วิทยาศาสตร์ที่ดูไร้สาระ - นักวิทยาศาสตร์แทงเข็มฉีดยาเข้าสมองฉลามโดยตรง สกัดเอาเซลล์บางตัว แล้ววางไว้ใต้กล้องจุลทรรศน์ จากนั้นมองดูเซลล์แบ่งตัวอย่างสมบูรณ์ ด้วยประกายไฟที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์

“เมื่อเราพูดถึงการยิงสัญญาณของเซลล์ประสาท มันไม่มีปฏิกิริยาที่เหมือนกับการเกิดประกายไฟเลย” ดร.เลอ คอมเบอร์ระบุ

สิ่งที่ควรจะเป็น – เป็นที่ทราบกันว่า สารเคมีจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งซึ่งปกติจะเพาะเลี้ยงขึ้นมานั้น ให้ผลทั้งในการบำบัดรักษาหรือเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่น และแม้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถแยก และจำแนกโปรตีนจากฉลามที่มีฤทธิ์รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ พวกเขาจำเป็นต้องเพาะเลี้ยงโปรตีนเหล่านั้น ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกควบคุม สารละลายอาจเพิ่มโปรตีนในแบคทีเรีย ภายในถังขนาดใหญ่ของห้องปฏิบัติการ เหมือนกับวิธีที่อินซูลินสังเคราะห์ของมนุษย์ถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก

“อีกทั้งการทดลองในห้องปฏิบัติการนั้น ยังทำให้ไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับฉลามด้วย แต่นั่นจะทำให้หนังไม่ค่อยน่าตื่นเต้นสักเท่าไหร่” ดร.เลอ คอมเบอร์

แล้วส่งผลกระทบอะไรหรือไม่? - “เรื่องนี้ส่งผลกระทบไม่มากนัก โดยไม่ได้ให้แนวคิดที่แท้จริง เกี่ยวกับการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้สื่อว่านักวิทยาศาสตร์ทำเรื่องแย่ๆ มากไปกว่าอาชีพอื่นๆ” ดร.เลอ คอมเบอร์กล่าว

2.The 6th Day (2000)


science-movie-6days


เค้าโครงเรื่อง – ในปี 2015 ชายคนหนึ่งกลับบ้านในวันเกิดตัวเอง และได้พบว่ามนุษย์โคลนได้เข้ามาแทนที่เขา ทำให้มีมนุษย์ 2 คน ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเลือดและการจับภาพความทรงจำของตัวเขาเอง โดยไม่มีใครรู้ว่าใครคือมนุษย์ต้นฉบับ และตอนจบของภาพยนตร์ คือการเผชิญหน้าระหว่างอาร์โนลด์ ชวาสเนเกอร์ 2 คน ซึ่งรับบทเป็นตัวแสดงนำ

วิทยาศาสตร์ที่ดูไร้สาระ – การโคลนนิงจนสร้างสิ่งมีชีวิตนั้นยากพอแล้ว แต่คนที่แอบทำอย่างผิดกฎหมาย ยังประสบความสำเร็จในการโคลนคนที่ตายแล้ว (ภรรยาของตัวละครเอก) ซึ่ง ศ.เปอร์โกวิทซ์ให้ความเห็นว่า เป็นความโรแมนติกนี้ค่อนข้าง “น่าขยะแขยง” อีกทั้งเขายังเกรงว่า เรื่องนี้อาจทำให้ผู้คนเชื่อว่า เมื่อพวกเขาตายแล้วสามารถเก็บดีเอ็นเอไว้ เพื่อไปโคลนได้ง่ายๆ

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ดีเอ็นเอนั้นบอบบาง เสียหายและเสื่อมคุณภาพลงอย่างรวดเร็วหลังความตาย และประเด็นนี้เคยถูกจับผิดมาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง “จูราสสิค พาร์ค” (Jurassic Park) 7 ปีก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ลงโรง ซึ่งในเรื่องนั้น ดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ถูกเก็บรักษาไว้ในยางอำพันของต้นไม้

สิ่งที่ควรจะเป็น – เนื่องจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก ในเรื่องของความน่าเชื่อถือ แต่ ดร.เคอร์บีกล่าวว่า มนุษย์โคลนที่ออกมาอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมด้วยความทรงจำของมนุษย์ต้นฉบับนั้นเป็นเรื่องน่าขัน ซึ่ง ศ.เปอร์โกวิทซ์ได้ยกตัวอย่างการเขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับการสร้างมนุษย์โคลนว่า ควรให้เป็นการสกัดเอาดีเอ็นเอจากร่างกายมนุษย์ ใส่เข้าไปในไข่มนุษย์ แล้วเกิดด้วยวิธีปกติ แทนที่จะสร้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งได้คนที่เติบโตโดยสมบูรณ์

แล้วส่งผลกระทบอะไรหรือไม่? - เนื่องจากภาพยนตร์เข้าถึงคนได้มากกว่าอื่นๆ จึงมีผลกระทบต่อสังคมอย่างยิ่ง ศ.เปอร์โกวิทซ์กล่าวว่า การพรรณาถึงการโคลนที่ไม่ถูกต้องนั้น มีส่วนทำให้สาธารณชนเกิดความกลัว และเคลือบแคลงต่อพันธุวิศวกรรม


3.The Core (2003)


sci-film-core


เค้าโครงเรื่อง – เมื่อแกนกลางของโลกอันเกิดหยุดหมุนโดยไม่ทราบสาเหตุ ทีมนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมุ่งหน้าสู่ใจกลางโลก และจุดระเบิดไฮโดรเจนเพื่อให้แกนกลางของโลกหมุนอีกครั้ง และชะตากรรมของมนุษยชาติทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับภารกิจดังกล่าว

วิทยาศาสตร์ที่ดูไร้สาระ – เมื่อคณะเดินทางไปถึงใจกลางโลก ตัวเอกของเรื่องเพียงแค่มีเหงื่อชุ่มตัว หากแต่ความจริงแล้ว ศ.เปอร์โกวิทซ์กล่าวว่า ใครก็ตามที่พาตัวเองไปถึงใจกลางโลกได้ พวกเขาจะละลายกลายเป็นไอในทันที

สิ่งที่ควรจะเป็น – ความคิดที่ว่าแกนกลางโลกจะหยุดหมุนนั้น เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือ และตลอดทั้งเรื่องมีเพียงฉากอธิบายชั้นต่างๆ ของโลกด้วยลูกพีชและก้อนหิน ซึ่งฉากที่นานประมาณ 1 นาทีนั้น ศ.เปอร์โกวิทซ์มองว่าใช้ได้ ส่วนที่เหลือตลอดทั้งเรื่องให้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนทั้งหมด

แล้วส่งผลกระทบอะไรหรือไม่? - ศ.เปอร์โกวิทซ์ให้ความเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้แย่เกินไป แต่ความผิดพลาดที่จงใจนั้น เพียงแค่สร้างความขุ่นเคืองให้กับนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น พร้อมทั้งจัดอันดับให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ไซไฟยอดแย่ของฮอลลิวูด

อย่างไรก็ดี ในความพยายามนำเสนอแนวคิดที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายความเป็นไปได้ของภาพยนตร์นั้น ทำให้ ดร.สตีเฟน เลอ กอมเบอร์ (Dr.Steven Le Comber) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากวิทยาลัยควีนแมรีคอลเลจ (Queen Mary College) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) รู้สึกเจ็บปวด ที่ถูกมองว่า นักวิทยาศาสตร์เป็นเพื่อนดูหนังที่ไม่ดี เขาเพียงแต่ต้องการออกมาชี้ถึง “วิทยาศาสตร์แย่ๆ” ในภาพยนตร์ ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องที่เขาศึกษาอยู่ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำลายประสบการณ์ในการออกไปชมภาพยนตร์ของเขา

“หากเป็นภาพยนตร์ที่ดีพอ ผมก็ยินดีให้พวกเขาทำต่อไป ทั้งนี้วิทยาศาสตร์ถูกทำลายด้วยวิทยาศาสตร์แย่ๆ ไม่ใช่ภาพยนตร์แย่ๆ” ดร.เลอ คอมเบอร์กล่าว


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์